1

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เทคนิคถ่ายภาพงานแสดงแสงเสียง

การมาถึงของสายลมหนาว

ใช่จะหมายถึงความเย็นเยือกของอากาศแต่เพียงอย่างเดียว หากรวมไปถึงเทศกาลงานเมืองต่างๆ ที่มักจัดขึ้นในช่วงนี้มากเป็นพิเศษ ในฤดูหนาวของทุกปีเราจะได้พบ เห็นท้องฟ้าสีสดเข้ม และอาทิตย์ดวงโตสีส้มแดงในทุกเย็นย่ำ หรืองานมหกรรมแสงสีเสียง ตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ท้าทายความสามารถนักถ่ายภาพทั้งหลาย งานแสดงแสงเสียงเป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์สำคัญของแต่ละสถานที่ เป็นงานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว ผู้ที่ ชื่นชอบการถ่ายภาพอย่างเราก็ยังมีโอกาส บันทึกความงดงามเหล่านี้เก็บไว้อีกด้วย ใช้กล้องแบบไหนดี แน่นอนว่าหากต้องการความคล่องตัว กล้อง 35 มม. SLR นับเป็นทางเลือกที่ดี แต่หากต้องการใช้กล้อง มีเดียมฟอร์แมท ที่ให้ฟิล์มขนาดใหญ่กว่า ก็สามารถทำได้เพียง แต่กล้องนั้นต้องมีชัตเตอร์ B หรือ T เพื่อที่จะสามารถเปิดชัตเตอร์ค้าง เป็นเวลานานได้ โดยส่วนตัวแล้วผมชอบที่จะใช้ ชัตเตอร์ T มากกว่า เนื่องจากมันเป็นชัตเตอร์ ที่ทำงานด้วยระบบกลไก จึงไม่ต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ และทำให้ผมไม่จำเป็นต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์ กล้องแมนนวลโฟกัสรุ่นที่ดีหน่อยมักจะมีระบบนี้มาให้ แต่จะหาไม่ได้ในกล้องออโต้โฟกัสรุ่นใหม่ ๆ แต่ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไร ชัตเตอร์ B ยังคงเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง ถึงแม้มันจะเปลืองแบตเตอรี่อยู่บ้าง ทางที่ดีจึงควรมีแบตเตอรี่สำรองไว้อีกสักชุด หรืออย่างน้อยก็ต้องให้แน่ใจว่า แบตเตอรี่ในกล้องยังมีไฟอยู่เต็ม การใช้ชัตเตอร์ B จำเป็นต้องมีสายลั่นชัตเตอร์ หรือสายรีโมทไฟฟ้า สำหรับกล้องออโต้โฟกัส หากไม่มีก็ไม่ควรเสี่ยงถ่ายให้เสียเวลา เพราะนั่นหมายถึงว่า ตลอดเวลาที่กล้องบันทึกแสงอยู่ ผู้ถ่ายจะต้องใช้นิ้วกด ที่ปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ตลอด บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานหลายนาที ถึงแม้ผู้ถ่ายจะไม่รู้สึกเมื่อย แต่โอกาสที่จะได้ภาพคมชัด ก็แทบไม่มีเลย



เลนส์ขนาดไหนจึงจะเหมาะ


การชมงานแสดงแสงเสียง จะคล้ายกับการนั่งชมภาพยนตร์อยู่ในโรงหนัง ผู้ถ่ายไม่สามารถ ลุกไปไหนมาไหนได้ ระหว่างที่มีการแสดง หรือแม้แต่พูดคุยเสียงดัง ก็เป็นการเสียมารยาท และรบกวนผู้ชมท่านอื่น นักถ่ายภาพจึงต้องหาที่เหมาะๆ ให้ได้เสียก่อนตั้งแต่การแสดงยังไม่เริ่ม แล้วยึดตรงนั้นเป็นที่มั่น ดังนั้นเพื่อเป็นการยืดหยุ่น ในการจัดองค์ประกอบจึงควรใช้เลนส์ซูม และถ้าให้ดีก็ควรเป็นเลนส์ซูม ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสเริ่มตั้งแต่ 28 มม. ที่ใช้งานบ่อยจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 28-105 มม. กว้างกว่านี้จะใช้งานยาก แต่หากจะมีเผื่อไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้นั้น หาโอกาสใช้ยากมาก นอกเสียจากต้อง การเก็บภาพการแสดงในบางช่วงที่ใช้นักแสดงจริง หากเป็นการแสดงที่ใช้นักแสดงเพียงไม่กี่คน โดยมากจะใช้แสงส่องเฉพาะจุดไปที่ตัวนักแสดง ซึ่งเป็นไฟที่มีความสว่างมาก หากเป็นการถ่ายเจาะไปที่ตัวนักแสดง เลนส์ที่ใช้ควรเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสัก F2.8 จะช่วยให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ ค่อนข้างสูงประมาณ 1/60 วินาที หรือ 1/30 วินาที กับฟิล์ม ISO 100 แต่หากเป็นการแสดงที่ใช้นักแสดงเป็นจำนวนมาก จะใช้แสงไฟแบบอื่น ซึ่งมีความเข้มของแสงน้อยกว่า ความเร็วชัตเตอร์ก็จะลดลงไปกว่านี้




อะไรอีกที่ต้องเตรียมไป


สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเห็นจะได้แก่ ขาตั้งกล้อง ซึ่งควรแข็งแรง พอที่จะยึดกล้องให้นิ่งสนิทได้ ขาตั้งที่เล็กและเบา อาจเขยื้อนได้เพียงแค่โดน สะกิดเบาๆ หากมันเกิดขึ้น ในขณะที่คุณกำลังเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ นั่นก็เท่ากับว่าภาพๆ นั้นเสียแน่นอน นอกจากนี้ ควรมีผ้าสีดำอีกสักผืน ที่ทึบพอกั้นแสงไม่ให้ส่องทะลุได้ ขนาดกว้างยาวหนึ่งฟุตกำลังดี หรือประมาณว่าพอคลุมกล้อง และเลนส์ที่ใช้ถ่ายได้มิดชิด และสุดท้ายก็ควรมีไฟฉายอันเล็กๆ ไว้ส่องหาของในกระเป๋า หรือส่องตัวกล้องเพื่อปรับตั้งค่าต่างๆ เพราะเมื่อเริ่มการแสดง ไฟในบริเวณนั้นจะถูกดับหมด



ควรใช้ฟิล์มอะไร


บางคนเข้าใจว่า เมื่อต้องถ่ายภาพในที่แสงน้อยเช่นนี้ ควรใช้ฟิล์มความไวแสงสูง อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นเลย ฟิล์มที่ใช้กันอยู่แค่ ISO 100 ก็ดูจะเพียงพอแล้วสำหรับงานนี้ เพราะโดยมาก จะเป็นการถ่ายภาพโบราณสถาน ที่ตั้งอยู่นิ่ง ๆ ขณะที่เราเองก็ใช้ขาตั้งกล้องอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็น ต้องใช้ฟิล์มไวแสงสูง แม้ว่าในบางช่วงจะมีนัก แสดงเข้ามาเกี่ยว หากคุณเลือกช่วงจังหวะได้อย่างเหมาะสม คุณก็จะได้ภาพ นักแสดงที่หยุดนิ่งได้เช่นกัน การใช้ฟิล์มไวแสงสูงจะทำให้ภาพมีเกรนหยาบขึ้น ในขณะที่ฟิล์มไวแสงต่ำ จะทำให้คุณพลาดแสงสีสวยๆ ในบางจังหวะ ที่อาจเปิดเพียงไม่กี่วินาที ที่สำคัญ มันทำให้คุณได้ภาพ เพียงไม่กี่ภาพ ต่อการแสดงหนึ่งรอบ และในจำนวนไม่กี่ภาพจะมีภาพดีอยู่ด้วยหรือไม่ อย่าลืมว่า การถ่ายในสภาพแสงที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เราไม่ควรคาดหวังว่าจะได้ภาพดีไปหมดทุกภาพ



พร้อมแล้วออกเดินทางได้
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หากการแสดงเริ่ม เราไม่ควร เดินไปไหนมาไหนเนื่อง จากเป็นการรบกวนผู้ชม ดังนั้น ก่อนจะเริ่มการแสดง เราจึงควรหามุมที่คิดว่าดีที่สุดให้ได้ โดยการสำรวจตามตำแหน่งต่างๆ ที่สามารถ ตั้งกล้องได้ ซึ่งควรเป็นที่ที่ทางเจ้าหน้าที่จัดไว้ให้สำหรับตั้งกล้อง หรือจะเป็นจุดอื่นที่ ทางเจ้าหน้าที่อนุญาต ที่สำคัญจะต้องเป็นจุดที่ไม่บังผู้ที่นั่งชม หรือหากมีผู้ตั้งกล้องอยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่ควรไปบังด้านหน้าเขา หรือแม้แต่ไปตั้งกล้องเบียดเขามากๆ เพราะอาจพลั้งเผลอไปสะกิดขาตั้งกล้องเขาระหว่าง ถ่ายได้ ดังนั้นถ้าต้องการจะได้มุมภาพดีจึงควรไปให้ถึงเร็วสักหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาสำรวจและจับจองพื้นที่ แต่ก็ไม่ใช่จะหวงที่ไว้เสียคนเดียว ไม่ใช่ว่า พอหามุมได้ดี ก็จัดแจงเอากระเป๋าและอะไรต่อมิอะไร วางไว้ระเกะระกะไปหมด โดยมากแล้วงานอย่างนี้ จะมีที่ทางสำหรับตั้งกล้องไม่มากนัก ดังนั้นข้าวของต่างๆ ควรวางให้เป็นที่ กระเป๋ากล้องถ้าเป็นไปได้วางไว้ใต้ขาตั้งก็ดี เผื่อคนมาทีหลังจะได้มีที่สำหรับตั้งกล้องบ้าง บางคนอุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกล เอื้อเฟื้อกันได้ก็ทำไปเถิดครับ สำหรับผู้ที่มีบัตรนั่งชมบนอัฒจันทร์ ไม่แนะนำให้ตั้งกล้องบนนั้น เพราะโดยมาก จะเป็นพื้นไม้ ที่สร้างขึ้นใช้ชั่วคราวมันจึงไม่นิ่งพอ แค่ขยับตัวหน่อยเดียวพื้นมันก็สั่นแล้ว เมื่อได้ตำแหน่งที่คิดว่าดีแล้ว ก็อย่ารอช้า จัดแจงทุกอย่างให้เรียบร้อยเสียแต่เนิ่นๆ จัดมุมภาพไว้คร่าวๆ สำหรับคนที่ใช้กล้องออโต้โฟกัส แนะนำให้โฟกัสแบบ แมนนวลจะดีกว่า และทางที่ดีก็ควรตั้งระยะโฟกัสไว้ให้เรียบร้อย ก่อนการแสดงจะเริ่ม เพราะเมื่อเริ่มแสดงแล้ว จะค่อนข้างมืดการหาโฟกัสจะทำได้ยาก โดยมากแล้วช่วงก่อนการแสดงจะเริ่ม แสงไฟในบริเวณงานมักจะเปิดทิ้งไว้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำการวัดแสงไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการถ่ายจริง กล้องที่มีระบบวัดแสงเฉพาะจุดจะได้เปรียบมาก เพราะสามารถเล็งตำแหน่งวัดแสง ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้เลย หากไม่มีระบบวัดแสงเฉพาะจุด ก็อาจใช้แบบเฉลี่ยหนักกลางแทน โดยพยายามเล็งให้พื้นที่กลางภาพนั้น อยู่ในส่วนที่ต้องการ เมื่อได้ค่าแสงแล้ว ก็อย่าลืมชดเชยเผื่อค่า Reciprocity Failure ไว้ด้วย หากว่าต้องบันทึกแสง นานหลายวินาที หรือหลายนาที เพราะความสามารถในการรับแสงของฟิล์ม จะลดลง โดยดูคำแนะนำจากกล่องฟิล์มแต่ละรุ่น ค่ารูรับแสงที่เหมาะ สำหรับการถ่ายงานแสดงแสงเสียง จะอยู่ที่ช่วงกลางๆ ประมาณ f/8 นอกจากได้ช่วงความชัดที่พอเหมาะแล้ว ยังไม่ต้องใช้เวลาในการเปิดรับแสงนานเกินไป ในการถ่ายจริงจะต้องประเมินด้วยสายตาว่า ความสว่างของแสง ที่เปิดระหว่างการแสดงนั้น สว่างหรือมืดกว่าที่เราวัดไว้แต่แรก หากมืดกว่าก็ควรเปิดรับแสงให้นานขึ้นอีกสักหน่อย ในบางช่วงของการแสดง ที่มีการเปิดแสงไฟไว้นาน ก็อาจลองวัดแสงในระหว่างนี้ไปด้วยก็ได้ เนื่องจากแสงที่ใช้ในการแสดงนั้น จะเปิดเป็นช่วงๆ บางครั้งอาจนาน จนเราสามารถบันทึกภาพได้ แต่บางครั้งก็เพียงไม่กี่วินาที หากเราตั้งใจว่าจะบันทึกแสงนาน 2 นาที แต่พอกดชัตเตอร์ ถ่ายไปได้เพียงไม่กี่วินาทีแสงไฟกลับมืดลง เราก็จำเป็นต้องเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ เพื่อรอบันทึกแสงในช่วงต่อไป เพื่อสะสมปริมาณแสงให้เพียงพอ ซึ่งอาจกินเวลานาน ระหว่างนี้ควรปิดหน้า กล้องไว้ด้วยผ้าดำ เผื่อว่าเกิดมีแสงที่ไม่ปรารถนาปรากฏขึ้นมา เช่นแสงไฟฉายจากคนข้างเคียง หรือแสงจากการแสดง ที่สีสันไม่ถูกใจเรา หรือบางครั้งอาจมีการเน้นแสง เฉพาะที่เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้แสงในส่วนนั้น โอเวอร์ ในขณะที่ส่วนอื่นในภาพ ยังได้รับแสงไม่พอ กรณีนี้ให้ใช้ผ้าดำคลุมไว้ แล้วรอจนกว่า จะมีการเปิดแสงในส่วนอื่น จึงค่อย เปิดผ้าออกเพื่อบันทึกแสงต่อ ในระหว่างที่ปิดผ้าดำนั้นก็ให้หยุดนับเวลาในการบันทึกแสงด้วย เช่นว่าถ่ายไปได้เพียง 30 วินาทีเกิดถึงช่วงที่ดับไฟหมด จากที่คำนวนไว้ว่าต้องการเปิดรับแสงนาน 2 นาที ก็ให้ใช้ผ้าดำคลุม แล้วจำไว้ว่าเพิ่งบันทึกแสงได้แค่ 30 วินาที รอจนถึงช่วงที่มีการเปิดแสงไฟอีก ก็ให้เอาผ้าดำออก แล้วนับเวลาต่อไปจนกว่าจะครบ 2 นาที ดอกไม้ไฟกับงานแสงเสียงเป็นของคู่กัน ลีลาเส้นสายของดอกไม้ไฟ ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับ ภาพงานแสดงแสงเสียงได้เป็นอย่างดี แต่ในการบันทึกภาพ ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากแสงของดอกไม้ไฟ ส่วนใหญ่จะเจิดจ้า และสว่างกว่าแสงไฟของสปอตไลท์ ที่ใช้ในการแสดงมาก หากต้องการบันทึก ลีลาของดอกไม้ไฟเข้าไปด้วย ให้ใช้ผ้าดำเปิดปิดเป็นช่วงๆ เลือกเอาเฉพาะดอกที่ต้องการ และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ควรให้ซ้ำซ้อนกัน เพราะอาจทำ ให้ส่วนนั้นโอเวอร์ กลายเป็นภาพที่ไม่ชวนมอง ในกรณีนี้หากใช้กล้อง แมนนวลโฟกัส หรือกล้องออโต้โฟกัส ที่ปรับเปลี่ยนรูรับแสง ที่ตัวเลนส์ได้ เช่น นิคอนหรือเพ็นแท็กซ์ จะช่วยได้มาก เนื่องจากขณะที่เปิดชัตเตอร์ค้างไว้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนขนาดรูรับแสงได้ ในจังหวะที่มีการจุดดอก ไม้ไฟก็อาจเปลี่ยนมาใช้ที่รูรับแสงแคบลง ที่ f/11 หรือ f/16 ก็จะช่วยลดความเจิดจ้าของดอกไม้ไฟลงได้ หรืออาจใช้วิธีถ่ายซ้อนก็ได้ ที่สำคัญควรคะเนพื้นที่เผื่อไว้ล่วงหน้า หากต้องการได้ภาพที่ดี แนะนำว่าอย่างน้อย ควรหาโอกาสถ่ายภาพ อย่างน้อยสักสองรอบ ต่อการแสดงหนึ่งชุด ในรอบแรกคุณอาจยังไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับการดำเนินเรื่องราว ช่วงจังหวะการเปิดปิดแสงไฟ และช่วงเวลาที่มีการจุดดอกไม้ไฟ การกะเกณฑ์สิ่งต่างๆ ลงไปในภาพ จึงยังไม่ลงตัวนัก แต่ในรอบต่อไปเชื่อว่า ทุกอย่างจะง่ายขึ้น หากว่าคุณเป็นคนช่างสังเกตช่างจดจำ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยถ่ายภาพ งานแสดงแสงเสียงมาก่อน อาจมีความรู้สึกว่ามันยุ่งยากซับซ้อน แต่หากคุณได้ลองสักครั้งสองครั้งแล้ว เชื่อว่าจะต้องหลงไหลมัน ไม่แพ้การถ่ายภาพแบบอื่นเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: